Education News !

ขออภัยครับ มีหลายลิงค์ที่เสีย กำลังจัดทำใหม่ครับ!

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

โครงการอบรมพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า โครงการอบรมพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาครั้งนี้ เป็นครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะว่าเป็นการอบรมพัฒนาครูทั้งระบบและครบทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งมีอยู่จำนวนประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ คน ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณของโครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) ทั้งสิ้น ๘,๒๒๗ ล้านบาท ใช้ระยะเวลาการดำเนินการ ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๕ โดยในปี ๒๕๕๓ นี้จะเริ่มต้นการอบรมในบางส่วน ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ไปจนกระทั่งถึงช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนเปิดภาคเรียน และจะมีการอบรมพัฒนาต่อเนื่องไปตลอดจนกระทั้งจบปี ๒๕๕๕ สำหรับงบประมาณดำเนินการมีดังนี้ ปี ๒๕๕๓ จำนวน ๑,๔๐๘ ล้านบาท ในปี ๒๕๕๔ จำนวน ๓,๔๑๗ ล้านบาท และปี ๒๕๕๕ จำนวน ๓,๔๐๒ ล้านบาท

สำหรับภาพรวมของการอบรม จะเน้นการอบรมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาและครูประจำวิชาควบคู่กัน มีการนำระบบ e-Training เข้ามาช่วยเสริมด้วย โดยความร่วมมือของ ๓ หน่วยงาน ได้แก่ สพฐ. สสวท. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ๒๕ มหาวิทยาลัย โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ประสานงานหลัก ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ศูนย์การอบรมจะมีจำนวน ๒๕ ศูนย์ทั่วประเทศ กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ สำหรับปี ๒๕๕๓ จะเริ่มต้นด้วยการอบรมผู้อำนวยการโรงเรียนทุกคนจำนวน ๓๑,๐๐๐ คน และอบรม Master Teacher จำนวน ๑๑,๐๓๙ คนใน ๕ กลุ่มสาระหลัก และครูรายวิชาอื่นๆ ด้วย เช่น ครูแนะแนว, ครูบรรณารักษ์, ครูการศึกษาพิเศษ และครูประถมศึกษา จำนวน ๑๒,๒๒๓ คน ขณะเดียวกันจะมีการอบรมครูทั่วไป จำนวน ๓๗๐,๐๐๐ คน โดยใช้ระบบ e-Training ในปี ๒๕๕๓ จะอบรมครูได้จำนวนทั้งหมด ๔๓๕,๐๐๐ คน ส่วนปี ๒๕๕๔ จะเน้นการอบรมรองผู้อำนวยการโรงเรียน, อบรม Master Teacher, อบรมครูเฉพาะวิชาที่ลดหลั่นกันลงไป เช่นเดียวกับปี ๒๕๕๕

สำหรับขั้นตอนดำเนินงาน จะเริ่มต้นด้วยการประเมินครูรายคนก่อน ว่ามีสมรรถนะ ศักยภาพ อยู่ในระดับใด โดยจะแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ต้น กลาง สูง หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการอบรม โดยจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในแต่ละระดับ เมื่ออบรมเสร็จแล้วก็มีการทดสอบรายบุคคลอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งใช้เกณฑ์มาตรฐานทดสอบอย่างเดียวกันและมีการให้คะแนนด้วย เพื่อให้มีความชัดเจนว่าใครผ่านกระบวนการทดสอบในระดับใด อย่างไร เพื่อที่จะนำผลการอบรมนี้ไปใช้ประโยชน์ของครูแต่ละคนต่อไป เช่น ใช้ประกอบการประเมินวิทยฐานะ เพื่อจะไม่ต้องอบรมซ้ำซ้อนในอนาคต เพราะถือว่ากระบวนการอบรมนี้เป็นมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการต้องให้การยอมรับร่วมกัน หรืออาจจะนำไปใช้สำหรับต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภา ซึ่งจะได้มีการหารือกับคุรุสภาต่อไป เป็นต้น

รมว.ศธ. กล่าวถึงการติดตามประเมินผลโครงการ ซึ่งอาจจะใช้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพราะ สมศ.มีองค์กรลูกที่ชื่อว่า สำนักวิจัยพัฒนาคุณภาพ (สวพ.) ซึ่งจะช่วยให้โครงการนี้มีการติดตามตรวจสอบโดยองค์กรภายนอก ทำให้โครงการสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีศักยภาพ มีการตรวจสอบประเมินผลครบทั้งวงจร ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะมุ่งเน้น สอนให้เด็กคิด วิเคราะห์เป็น มากกว่าเน้นการท่องจำ ตามแนวทางหลักสูตรใหม่ปี ๒๕๕๓

ดังนั้นทุกอย่างจะเดินไปในระบบเดียวกัน และสอดคล้องต้องกันทั้งระบบ ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อต้องการเพิ่ม ยกระดับ คุณภาพการศึกษาทั้งระบบ โดยเริ่มต้นที่การยกระดับคุณภาพครู และยกระดับคุณภาพกระบวนการเรียนการสอน เนื้อหา สาระ หลักสูตร ในที่สุดหวังว่าผลสัมฤทธิ์ก็จะตกกับเด็กในทิศทางที่ดีขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้สูงขึ้น.

2 ความคิดเห็น:

ครูบุญ กล่าวว่า...

อำนาจเจริญเมื่อไหร่จะสอบ

ครูบุญ กล่าวว่า...

ขอบคุณผอ.โจ้

แบบทดสอบความรู้ด้านกฎหมายการศึกษา

สถิติเยี่ยมชม เริ่มนับ 20 ตค 51